คาร์บอนเครดิตคืออะไร ส่งผลดีอย่างไรต่อภาคธุรกิจไทย
ภาวะโลกร้อน กลายเป็นภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถมองข้ามได้ในปัจจุบัน นานาประเทศทั่วโลกจึงต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาคุณมารู้จักกับ คาร์บอนเครดิต หนึ่งใน Solution เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างยั่งยืน มาดูกันว่าสิ่งนี้คืออะไร? และสถานการณ์คาร์บอนเครดิตในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
คาร์บอนเครดิตคืออะไร
ก่อนที่เราจะรู้จักว่า คาร์บอนเครดิต คืออะไร เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สถานการณ์ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนั้นเข้าขั้นวิกฤต ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศทั่วโลกจึงร่วมประชุมและประกาศใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) บนพิธีสารเกียวโต
โดยอนุสัญญานี้ว่าด้วยการกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ป้องกันไม่ให้ชั้นบรรยากาศถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์ไปมากกว่านี้ เพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน และฟื้นฟูระบบภูมิอากาศ
ด้วยเหตุนี้ องค์กรหรืออุตสาหกรรมใดที่ประกอบธุรกิจและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกออกมามากกว่าโควตาที่กฎหมายกำหนด จำเป็นจะต้องจ่ายเงินซื้อ คาร์บอนเครดิต ถึงจะสามารถปล่อยก๊าซออกมาเกินกว่ากำหนดได้
คาร์บอนเครดิตได้มาจากไหน
คาร์บอนเครดิตนั้นจะถูกสร้างขึ้นโดยกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ อย่างเช่น การปลูกต้นไม้ ซึ่งจะนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตโดยการวัดความสูง เส้นรอบวง และพันธุ์ของต้นไม้ เพื่อนำไปคำนวณคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และแปลงออกมาเป็นเครดิตนั่นเอง
การคำนวณนั้นจะถูกดำเนินการโดยองค์กรเฉพาะทางของแต่ละประเทศ สำหรับไทยจะเป็นหน้าที่ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นผู้รับเรื่องในการคำนวณ
โดยการสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อขายนั้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่ใครก็สามารถทำได้ แม้แต่กิจกรรม CSR ปลูกต้นไม้ก็สามารถนำไปคำนวณเครดิตเพื่อขึ้นทะเบียนขายได้เช่นกัน
การซื้อขายคาร์บอนเครดิต
เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่าคาร์บอนเครดิตนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ทีนี้เรามารู้จักกับแหล่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือเรียกกันว่า ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Market) ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- ตลาดคาร์บอนเครดิตของทางการ หรือภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)
ตลาดคาร์บอนเครดิตของทางการ หรือภาคบังคับ จะมีหน่วยงานของรัฐบาล และคณะกรรมการกลางอย่าง UNFCCC เข้ามาเป็นคนควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรต่างๆ อย่างเข้มงวด รวมไปถึงเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเช่นกัน
โดยตลาดคาร์บอนของทางการส่วนใหญ่จะบังคับใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตรารายได้สูง - ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)
ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ คือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ยังมีผู้ซื้อขายไม่มากนัก แม้จะมีหน่วยงาน หรือองค์กรคอยดูแลการแลกเปลี่ยน แต่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้จะยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันด้วยความสมัครใจเอง
ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจเช่นกัน โดยจะอยู่ในความดูแลของ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นผู้ควบคุมการซื้อขาย
สถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
ปัจจุบันผู้ที่เข้าร่วมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยนั้น จะอยู่ภายใต้โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจก ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ
โดยการสร้างคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER นั้น จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ตาม ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) โดย อบก. ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่นี่
แม้ว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยจะยังมีผู้ทำการซื้อขายไม่มากนัก แต่หากดูจากสถิติแล้ว แนวโน้มของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่ามีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเห็นได้ชัดว่ามีราคา และปริมาณการซื้อขายที่เติบโตขึ้นในทุกๆ ปี ดังนี้
- ปี 2560 ราคา 30.06 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
- ปี 2561 ราคา 21.37 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
- ปี 2562 ราคา 24.71 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
- ปี 2563 ราคา 25.76 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
- ปี 2564 ราคา 34.34 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
- ปี 2565 ราคา 76.98 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
รวมไปถึงยังตั้งเป้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 อีกด้วย โครงการ T-VER จึงนับเป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการไปให้ถึงเป้าหมายเหล่านี้
ReAcc ผู้ให้บริการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
บริษัท ReAcc (รีแอค) จำกัด หนึ่งในบริษัทในเครือของ PTT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Platform ซื้อ-ขายพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบ Blockchain ซึ่งรวมไปถึงการรับซื้อ คาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขายต่อให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่ต้องการเช่นกัน
ซึ่งเป้าหมายของ ReAcc คือ ขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) และผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนหันมาผลิตและใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น
อ่านเรื่องราวของ ReAcc ต่อได้ที่ Website ReAcc.io
สรุป
แม้ว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยว่าเป็นโครงการที่มีช่องโหว่มาก และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่ซื่อสัตย์นั้นสามารถหลบเลี่ยงการบอกปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจริงๆ ได้
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในแนวโน้มที่ดีมากๆ เลยทีเดียว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีเป็นอย่างมากที่เห็นภาคอุตสาหกรรมไทยให้ความตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
- http://carbonmarket.tgo.or.th/
- https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/ask-answer-tver/item/2105-t-ver.html
- https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/tver-condition.html
- https://www.springnews.co.th/spring-life/825722
- https://classic.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7879
- https://www.greennetworkthailand.com/cop26-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/